พุทธบูชา

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดอบรมการสร้างเครื่องพุทธบูชา พัฒนาศิลปะพื้นบ้านสู่ความยั่งยืน

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์พัฒนาและจัดอบรมหลักสูตร “การสร้างเครื่องพุทธบูชา (พุ่มต้นไม้เงินและทอง)” มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยโครงการการบันทึกและอนุรักษ์การสร้างทำเครื่องพุทธบูชาเพื่อถวายแด่พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ นวลนุ่ม อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต สำนักวิชาการบัญชีและการเงิน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้โครงการวิชาการรับใช้สังคม (WU-Social Engagement) ของศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้ประสานความร่วมมือวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราชพัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมหลักสูตร “การสร้างเครื่องพุทธบูชา (พุ่มต้นไม้เงินและทอง)” ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากองค์ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับการสร้างทำเครื่องพุทธบูชาเพื่อถวายแด่พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช การอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างเครื่องพุทธบูชา จัดขึ้นในช่วงวันที่ 21 -26 กุมภาพันธ์ 2567 ณ วัดจันทาราม ตำบลท่าวัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายสุรเชษฐ์ แก้วสกุล นักวิชาการอิสระประจำ The Library At Nakorn ว่าที่ ร.ต. ปิยชาติ แก้วมณี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จินตนา อนุวัฒน์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนาฏศิลป์ศาลายา เป็นวิทยากร โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการประกอบด้วยเนื้อหาและการฝึกฝนทักษะ 3 ส่วนคือ (1) การทำความเข้าใจเรียนรู้เกี่ยวกับชนิด ประเภทของเครื่องพุทธบูชา พุ่มต้นไม้เงินและทองแบบต่างๆและโอกาสการนําไปใช้งาน หลักการพื้นฐานในการจัดทําพานพุ่มพุทธบูชา รูปทรงและองค์ประกอบ (2) การทำความเข้าใจเกี่ยวกับชนิด ประเภทของวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆในการจัดทําพานพุ่มต้นไม้เงินและทอง การตกแต่ง การเสริมความแข็งแรงของพุ่ม การเลือกใช้งาน แหล่งจําหน่ายวัสดุ ข้อจํากัดของวัสดุและอุปกรณ์ รวมถึง การจัดเก็บรักษา และ (3) การฝึกปฏิบัติเพื่อจัดทําพุ่มต้นไม้เงินและทอง ตามแบบหรือขนาดที่กําหนดได้อย่างถูกต้อง โดยเนื้อหาสำคัญประกอบด้วย การพันเส้นลวดและการเข้าทรงพุ่ม การวาดแบบและตัดแผ่นโลหะ การตกแต่งกลีบดอกไม้และใบ การประกอบกลีบดอกและใบเข้าทรงพุ่ม ในการอบรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมอบรมที่เข้าอบรมอย่างต่อเนื่องและผู้เข้าอบรมเพียงบางช่วง จำนวนรวมกว่า 20 ราย และเนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา (วันเสาร์ ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567) ผู้เข้ารับการอบรม คณะวิทยากร คณะนักวิจัยและที่ปรึกษาโครงการ จึงได้นำผลงานเครื่องพุทธบูชาซึ่งมีความคืบหน้าและเครื่องพุทธบูชาส่วนกลางของโครงการที่ผู้เข้าร่วมการอบรมช่วยกันสร้าง ไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นปฐมฤกษ์ ณ วัดพระธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้รับความกรุณาจาก พระเมธีวชิราภิรัต เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช และพระครูเหมเจติยาภิบาล โสพิทร์ แซ่ภู่ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร เดินนำขบวนเครื่องพุทธบูชาของโครงการและผ้าพระบฏเวียนรอบพระบรมธาตุเจดีย์ นำกล่าวถวายเครื่องพุทธบูชา ณ วิหารเขียน และอำนวยพรแก่ผู้เข้าร่วมอบรมและผู้เข้าร่วมขบวนแห่เครื่องพุทธบูชา สำหรับโครงการการบันทึกและอนุรักษ์การสร้างทำเครื่องพุทธบูชาเพื่อถวายแด่พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) บันทึกและอนุรักษ์การสร้างเครื่องพุทธบูชาซึ่งเป็นดอกไม้และต้นไม้ที่ประดิษฐ์จากงานโลหะ (2) ฟื้นฟูการสร้างทำเครื่องพุทธบูชาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช และ (3) ฟื้นฟูพิธีถวายเครื่องพุทธบูชาแด่พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช โครงการการบันทึกและอนุรักษ์การสร้างทำเครื่องพุทธบูชาเพื่อถวายแด่พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 11 Sustainable Cities and Communities ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน ตัวชี้วัดที่ 11.2.6 การบันทึกและอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านและมรดกทาง และ ข้อที่ 17 PARTNERSHIPS FOR THE GOALS เสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฏิบัติให้เกิดผล และสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวชี้วัด 17.2.1 ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
Facebook Comments